Saturday, 27 April 2024
WEEKEND NEWS

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567

‘ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก’ องค์ท่านได้รับการฝึกฝนอบรมภาวนาจากท่านพ่อลี ธัมมธโร จนเกิดเป็นหลักจิตหลักใจ และมั่นใจในคุณของพระพุทธศาสนา ท่านพ่อเฟื่อง และหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท จึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ท่านพ่อเฟื่อง ท่านเป็นพระสมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ และลาภยศ รักการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่ควรรำลึกน้อมเป็นสังฆานุสสติอย่างยิ่ง

หนึ่งในคำสอนของท่านก็คือ “หูเราก็มี 2 หู ปากก็มีปากเดียว แสดงว่าเราต้องฟังให้มาก ต้องพูดให้น้อย”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย. 2567

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 67 เพจเฟซบุ๊ก ‘บุญนิยมทีวี’ ซึ่งเป็นสื่อหลักของ สันติอโศก ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “แจ้งข่าว พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มรณภาพ ด้วยโรคชรา เวลา 06.40.10 น. วันพฤหัสบดี 11 เมษายน 2567” สิริอายุ 89 ปี 10 เดือน 6 วัน 

ทั้งนี้ ‘สมณะโพธิรักษ์’ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งสำนักสันติอโศก เป็นผู้ก่อกำเนิดคณะกลุ่มชาวอโศก ก่อตั้งชุมชนบุญนิยม ‘พุทธสถานสันติอโศก’ ย่านนวมินทร์ ก่อนจะขยายชุมชนบุญนิยม-เครือข่ายพึ่งตนเอง ในอีกหลายจังหวัด รวมทั้งราชธานีอโศก ที่อุบลราชธานี

สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการปอดอักเสบ กระทั่งออกจากโรงพยาบาล กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีอาการทรุดลงและต้องกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง กระทั่งมรณภาพอย่างสงบ

สำหรับประวัติสมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘รัก รักพงษ์’

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง และทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย

สมัยยังทำงานในวงการบันเทิง ท่านมีผลงานเพลงที่แต่งในนาม ‘รัก รักพงษ์’ ออกมาประสบความสำเร็จ เป็นเพลงยอดนิยมจำนวนมาก รวมทั้งเพลง ‘ผู้แพ้’ ‘กระต่ายเพ้อ’ และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘โทน’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทำเงิน ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 เพลงฮิตจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประพันธ์โดย ‘รัก รักพงษ์’ ได้แก่ ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ และ ‘ชื่นรัก’ เป็นต้น

ต่อมา ท่านได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า ‘โพธิรกฺขิโต’ มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระโพธิรักษ์เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส มีผู้มาขอศึกษาปฏิบัติตามทั้งฆราวาสและนักบวช จากคณะธรรมยุต และมหานิกาย ต่อมาพระราชวรคุณ ไม่ต้องการให้พระฝ่ายมหานิกายมาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์ จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2516

ตัวท่านเองมุ่งสารธรรมเป็นใหญ่ ไม่ติดใจเรื่องนิกาย จึงมีพระทั้งมหานิกายและพระธรรมยุต ที่มีปฏิปทาเป็น ‘สมานสังวาส’ กัน มาร่วมศึกษาปฏิบัติอยู่ด้วย โดยยึดถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้พระอุปัชฌาย์ทางฝ่ายธรรมยุตไม่พอใจ พระโพธิรักษ์จึงคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2516 ถือแต่ใบสุทธิฝ่ายมหานิกายเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีพระจากทั้งสองนิกาย อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วย เพราะพระโพธิรักษ์ไม่รังเกียจนิกายใด ๆ มุ่งหมายทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ให้ผิดพระวินัยเป็นสำคัญ

วัตรปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระโพธิรักษ์ คือ การฉันอาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ ไม่ใช้เงินทอง นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีการเรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์ ไม่ใช้การบูชาด้วยธูปเทียน และไม่มีไสยศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ทีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระนอกรีต การทำงานด้านศาสนาได้รับอุปสรรคตลอดมา พระโพธิรักษ์และคณะจึงประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2518 แต่เมื่อถูกพิพากษาว่าไม่สามารถเรียกขานตนเองว่าเป็นพระได้ จึงเรียกตนเองว่า ‘สมณะ’ แทน แต่ยังคงปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนเดิม

‘สมณะโพธิรักษ์’ ได้นำ ‘กลุ่มชาวอโศก’ สร้างชุมชนบุญนิยมขึ้น และก่อตั้งพุทธสถานสันติอโศกขึ้นที่ ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พ.ศ. 2519 หลังจากนั้น ยังเกิดชุมชนเครือข่ายเป็นชุมชนพึ่งตนเองแบบครบวงจร รวมทั้งเกิดพุทธสถานและชุมชนบุญนิยม 9 แห่ง ได้แก่

-พุทธสถานสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
-พุทธสถานปฐมอโศก อ.เมือง จ.นครปฐม
-พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
-พุทธสถานศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
-พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
-พุทธสถานราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
-พุทธสถานลานนาอโศก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
-สังฆสถานทะเลธรรม อ.เมือง จ.ตรัง
-สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก รวม 8 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมทัศน์สมาคม มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน สมาคมศิษญ์เก่าสัมมาสิกขา สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และมูลนิธิบุญนิยม

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของ ‘หลวงปู่วัง ฐิติสาโร’ รำลึก 71 ปี อาจาริยบูชาคุณ ‘พระโพธิสัตว์แห่งภูลังกา’ 

‘หลวงปู่วัง’ ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ช่ำชองการอยู่ป่าเป็นวัตร ออกแสวงหาความวิเวก อยู่ในพื้นที่กันดารไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อภยันตราย ไข้ป่า สัตว์ป่า ผีร้าย หรือแม้แต่ความอดอยาก ท่านปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ อยู่รุกขมูลตามป่าทึบดงหนา เงื้อมผา และโถงถ้ำ ทั่วทั้งอาณาเขตดงสีชมพู ทั้งที่ภูวัว ภูสิงห์ และภูลังกา 

‘หลวงปู่วัง’ ท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และยังได้เคยไปศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลายครั้งหลายคราว อีกทั้งยังถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่ฝั้น อาจาโรและหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อีกด้วย 

หลวงปู่วัง ท่านปรารถนาพุทธภูมิเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แม้หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ผู้เป็นพระอาจารย์เคยเตือนว่า การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นต้องใช้เวลาสร้างบารมีมาหลายกัป หลายภพหลายชาติ มันเนิ่นช้าต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏอีกยาวไกล แต่หลวงปู่วัง ก็ได้กราบเรียนท่านหลวงปู่ว่ามีความมุ่งมั่นรักในพุทธภูมินี้มาก แม้จะมีผู้มีอำนาจมาบังคับว่าถ้าไม่ยอมถอนจากความปรารถนานี้ จะฆ่าให้ตาย ก็ไม่ยอมถอน แม้จะฆ่าให้ตายก็ยอม เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านหลวงปู่เสาร์ก็พลอยอนุโมทนาด้วย และบอกว่าขอให้ตั้งใจต่อไป 

ที่ถ้ำชัยมงคล ธรรมสถานหลวงปู่วังที่ภูลังกา จึงพบเห็นพระพุทธรูปฝีมือการปั้นโดยหลวงปู่วัง อยู่หลายองค์ด้วยกัน หลวงปู่วัง ท่านมักพบเห็นสิ่งอัศจรรย์เหนือโลก และเป็นที่รักใคร่ของเทวดา บังบด พญานาค และฤาษีผู้บำเพ็ญตบะอยู่ตามป่าเขา จนท่านได้รับสมญานามว่าเป็น ‘เทพเจ้าแห่งภูลังกา’

หลวงปู่วัง ท่านละสังขารลงเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2496 ซึ่งก่อนมรณภาพ ท่านได้พูดกับศิษย์เบา ๆ ด้วยน้ำเสียงปกติว่า “มันจะตายก็ให้มันตายไป” แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก 

จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 20.18 น. ลูกศิษย์หลวงปู่วัง ที่เป็นที่รู้จักในวงศ์พระกัมมัฏฐาน ได้แก่ หลวงปู่วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร, หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร และ หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม วัดศรีวิชัย จ.นครพนม

บรรณานุกรมอ้างอิง​ : คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติหลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม วัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม​

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567

‘สมเด็จเกี่ยว’ หรือ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 หนึ่งในคำสอนของ ‘สมเด็จเกี่ยว’ ที่เตือนสติชาวพุทธได้อย่างดี คือ…

“เมื่อได้ยินอะไรในทางที่เสีย ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจว่าเสีย เพราะเพียงแต่เขาพูดกัน ต้องใคร่ครวญพิจารณาให้ดี ในลักษณะฟังหูไว้หู ถ้ายังไม่เห็นที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ก็อย่าเพิ่งไปต่อหรือไปเสริม ให้เกิดความเสียหาย”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2567

"ผู้ที่มีการรับเอา แต่ไม่มีการให้ 
นั่นคือ 'ผู้ขาดทุน'
ส่วนผู้ที่มีการให้ โดยมีการรับเอาน้อย
ได้เท่าใดๆ กลับยิ่งได้กำไรมากเท่านั้นๆ"

-พ่อครูสมณะโพธิรักษ์-
ผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งสันติอโศก

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2567

‘พระธรรมสิงหบุราจารย์’ หรือ ‘หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม’ เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีปฏิปทาจริยาวัตรที่งดงาม เป็นพระสุปฏิปันโนหาได้ยากยิ่ง ได้สร้างความดีไว้มากมายเป็น ‘แบบอย่างที่ดี’ ของศิษยานุศิษย์ทุกหมู่เหล่า

นอกจากนี้ ‘หลักธรรมคำสอน” ของคุณหลวงพ่อจรัญยังเป็น ‘แนวทาง’ ให้ลูกศิษย์นำไปประพฤติปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงตามมรรคธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นทางสายเอกที่จะทำให้ ‘ผู้ปฏิบัติตาม’ พ้นจากความทุกข์ได้

หนึ่งในคำสอนของหลวงพ่อจรัญ ที่ฟังแล้วต้องหยุดคิดให้ถี่ถ้วนแล้วย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ‘ใช้เวลาได้คุ้มค่า’ แล้วหรือยัง คือคำสอนที่ว่า…

“เวลาเป็นสิ่งเดียวในโลก ที่ทุกคนได้รับเสมอกัน ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันเลยแม้แต่คนเดียว แต่ใครจะใช้เวลาแต่ละวินาที อย่างมีค่าและคุ้มค่ากว่ากัน นี่แหละเป็นเรื่องน่าคิด”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 2567

คำสอนจากสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒนมหาเถร) วัดบวรนิเวศวิหาร

“คนวัยรุ่น กำลังเจริญด้วยพลัง กำลังทะยานกาย ทะยานใจ เหมือนน้ำตกแรง เมื่อไม่สมหวัง…มักจะทำอะไรแรง จึงมักพลาดได้ง่าย และเมื่อพลาดลงไปในห้วงอะไรที่แรงๆ แล้ว ก็อันตรายมาก เหมือนอย่างไปเล่นสนุกกันที่น้ำตก อาจเผลอพลาดตกลงไปกับน้ำตกที่โจนลงไปจากหน้าผาสูงชัน”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567

‘หลวงปู่ชา สุภทฺโท’ พระเกจิชื่อดังที่หลายคนรู้จักและนับถือท่านเป็นอย่างมาก จากคำสอนที่ลึกซึ้ง โดยวันหนึ่งมีคนถามหลวงปู่ว่า ชาติหน้ามีจริงหรือไม่? ซึ่งผู้ถามก็ได้คำตอบที่ทำเอาต้องรีบก้มกราบอย่างไม่ติดใจ ดังนี้...

โยม : ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ?
หลวงปู่ชา : ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ ?
โยม : เชื่อครับ
หลวงปู่ชา : ถ้าเชื่อคุณก็โง่

คำพูดดังกล่าวของหลวงปู่เล่นเอาคนถามงง ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ ซึ่งหลวงปู่ชา ได้อธิบายไว้ว่า…

หลายคนถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า ถ้าบอกแล้วจะเชื่อไหม ถ้าเชื่อก็โง่ เพราะอะไร? ก็เพราะมันไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้ ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป ทีนี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้ามีพาผมไปดูหน่อยได้ไหม เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ทีนี้ ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม อาตมาก็ถามว่า พรุ่งนี้มีไหม ถ้ามีพาไปดูได้ไหม 

อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้ ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี แต่สิ่งนี้มันเป็นของที่จะหยิบยกมาเป็นวัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี ไม่ต้องถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ เราจะต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย"

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้ นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวานเสียแล้ว นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ 

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี อนาคตมันก็จะดีด้วย อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตคือชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง

ธรรมะสุดยอด
ธรรมะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือคำพูด

คำสอนธรรมะทั้งหลายนั้น มันเป็นคำสมมุติกันขึ้นมาพูด ตัวธรรมะแท้ ๆ นั้นอยู่เหนือคำพูด ผู้มีปัญญารู้เห็นธรรมะ ท่านไม่ต้องการอะไร ไม่เอาอะไรอีกแล้ว เพราะถ้าจะเอาความสุข ความสุขมันก็ดับ ถ้าจะเอาความทุกข์ ความทุกข์มันก็ดับ จะเอาวัตถุสมบัติข้าวของอะไรต่าง ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็จะดับเหมือนกัน

แม้นแต่ร่างกายที่คนหวงแหนกันนี้ เกิดขึ้นแล้ว ที่สุดแล้ว มันก็ดับ

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567

“ถ้าคิดได้ ให้ช่วยคิด 
ถ้าคิดไม่ได้ ให้ช่วยทำ
ถ้าทำไม่ได้ ให้ความร่วมมือ 
ถ้าร่วมมือไม่ได้ ให้กำลังใจ
แม้ให้กำลังใจไม่ได้ ให้สงบนิ่ง”

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อมฺพรมหาเถร)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top